ช่วงนี้ที่การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงคุกคามชีวิตการทำงานของทุกคนอยู่ การทำงานจากบ้านแบบ 100% หรือบางบริษัทก็เป็นแบบไฮบริด (เข้าออฟฟิศบ้างบางวัน) ทำให้ชีวิตมีโอกาสได้ลองปรับเปลี่ยนจังหวะการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการพักระหว่างวันที่มีโอกาสทำได้ง่ายกว่าเดิม เพราะเมื่อทำงานจากบ้าน เตียงนอนกับโต๊ะทำงานอยู่ไม่ห่างกัน (บางคนก็เป็นสิ่งเดียวกันด้วยซ้ำ) ทำให้ระหว่างวันก็สามารถงีบหลับพักได้ถ้าต้องการ ซึ่งเรามักเห็นบทความเขียนเกี่ยวกับประโยชน์ของการงีบหลับระหว่างวันมาบ้างแล้ว อย่างในนิตยสาร Inc.com ก็บอกว่ามันช่วยเสริมสร้างการจดจำข้อมูลที่ดีกว่า มีประโยชน์มากกว่าการอัดกาแฟ ลดความเครียด และความกังวลให้น้อยลงด้วย เพราะฉะนั้นพนักงานที่งีบหลับระหว่างวัน แท้จริงแล้วพวกเขาอาจจะเป็นคนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการขี้เกียจเหมือนที่เราเข้าใจกันผิด ๆ มาโดยตลอดก็ได้

ถึงแม้ว่างานวิจัยจะบ่งบอกไปทางเดียวกันว่ามันช่วยให้ทำงานดีขึ้น แต่ก็มีอีกอย่างหนึ่งที่เราควรจะรู้เกี่ยวกับเทคนิคการงีบหลับระหว่างวัน นั่นก็คือระยะเวลาและวิธีการงีบก็ส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพของการงีบหลับ ซึ่งก็โชคดีที่ว่าวิทยาศาสตร์ก็มีคำตอบสำหรับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

นักวิทยาศาสตร์ที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือที่รู้จักกันในชื่อ NASA ได้ทำการศึกษาเรื่องการงีบอย่างจริงจัง พวกเขาเชื่อว่ามันทำให้นักบินนั้นมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการตัดสินใจผิดพลาด ทำให้โอกาสที่จะทำให้ตัวเองหรือผู้โดยสารตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายต่ำลงไปด้วย สิ่งที่ NASA ค้นพบก็คือว่านักบินอวกาศที่งีบหลับเป็นเวลา 26 นาทีนั้นแสดงให้เห็นการตื่นตัวที่เพิ่มขึ้นถึง 54% และสร้างสรรค์งานได้ดียิ่งขึ้นถึง 34% หรือประมาณ 1/3 เลยทีเดียวเมื่อเทียบกับนักบินที่ไม่ได้งีบหลับ

เมื่อเราพูดถึงเรื่องการงีบหลับนั้นต้องเข้าใจก่อนว่าการงีบคือการนอนแบบสั้น ๆ ไม่ใช่การหลับลึกแบบยาว ๆ เหมือนการนอนกลางคืน คือถ้าไม่ได้มีเวลามากกว่า 90 นาทีในการนอนเพื่อทดแทนจากการนอนไม่พอเมื่อคืนก่อน ก็ไม่ควรงีบเกิน 30 นาที เพราะไม่เช่นนั้นร่างกายของเราจะเข้าสู่โหมดการหลับลึก ทำให้ตื่นยากแถมไม่พอยังงัวเงีย งุนงง และอารมณ์ขุ่มมัวกว่าก่อนจะงีบอีกด้วย

NASA บอกว่าอันที่จริงการงีบหลับ 26 นาทีอาจจะนานไปนิดหนึ่งด้วยถ้าเราต้องตื่นแล้วต้องกลับไปทำงานเลยทันที เพราะฉะนั้นที่จริงแล้ว 10 – 20 นาทีก็ถือว่าเป็นระยะเวลาทีเพียงพอแล้วที่จะได้ประโยชน์จากการงีบโดยไม่ต้องรู้สึกมึนงง

หลายคนอาจจะบอกว่าแล้วถ้าเราไม่สามารถนอนหลับได้เลยทันทีล่ะ เป็นคนนอนหลับยาก ปกติหัวถึงหมอนครึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่หลับเลย ในงานวิจัยบอกว่าอย่าไปกังวลเรื่องนี้มากนัก เขาบอกว่าเพียงแค่นอนหลับตาเงียบ ๆ ในระยะเวลาเท่า ๆ กับการงีบสั้น ๆ 10 – 20 นาที ก็เพียงพอที่จะชาร์จพลังของคุณให้ฟื้นขึ้นมาแล้ว

“มูลนิธิการนอนแห่งชาติ (The National Sleep Foundation) รายงานว่าการอยู่เงียบ ๆ นิ่ง ๆ นั้นจะช่วยทำให้เซลล์สมอง กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่าง ๆ นั้นได้พักผ่อน ลดความเครียดลงและทำให้อารมณ์ดีขึ้น สร้างการตื่นตัว ความคิดสร้างสรรค์ และอีกมากมาย”

เพราะฉะนั้นเมื่อรู้แบบนี้แล้วสำหรับคนที่หลับยาก ก็ไม่ต้องกังวลไปว่าจะไม่สามารถงีบหลับได้ แค่หลับตา…แค่นั่นก็ถือว่าได้ประโยชน์จากการได้พักแล้ว

ตอนนี้เมื่อเรารู้สึกเหนื่อยระหว่างวัน ลองงีบดู (หรืออย่างน้อยก็ลองหลับตาสักพัก) สัก 10-20 นาที มันจะช่วยทำให้คุณกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และถ้ามีใครมาต่อว่าหรือหัวหน้าไม่พอใจก็อ้างงานวิจัยของ NASA ว่าถ้าการงีบส่งผลดีต่อนักบินอวกาศ มันก็คงดีกับเราด้วยเช่นเดียวกัน

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส