มีอะไรน่าสนใจในสุนทรพจน์ของ Mark Zuckerberg ที่ฮาร์วาร์ดบ้าง?

หลังจากที่มีข่าวว่า Mark Zuckerberg จะได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ (Honorary Degree) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และจะได้ขึ้นพูดสุนทรพจน์ในงานด้วย วันนี้เขาได้ขึ้นพูดสุนทรพจน์แล้ว พร้อมทั้งฝากข้อคิด ประสบการณ์ และความมุ่งมั่นเอาไว้หลายอย่างในการพูดครั้งนี้

Photo: Harvard

หาโปรเจ็กต์ใหญ่ที่มีความหมายต่อชีวิตคุณ, แล้วลงมือทำซะ!

หลายคนอาจจะกังวลกับงานในอนาคต เพราะงานจำนวนมากสามารถแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติได้ อย่างตอนนี้มีหุ่นยนต์, AI หรือรถไร้คนขับออกมาให้เห็นกันบ้างแล้ว แต่ Mark บอกว่า “เชื่อสิ มนุษย์มีศักยภาพมากกว่านั้น”

“กว่าจะขึ้นไปบนดวงจันทร์ได้ มนุษย์ใช้คนกว่า 30,000 คน อาสาสมัครหลายล้านคนร่วมกันช่วยเหลือเด็กๆ ทั่วโลกที่เป็นโปลิโอ คนหลายล้านคนร่วมกันสร้างเขื่อน Hoover อันมหึมา และยังมีอีกหลายโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ”

ตอนนี้ถึงตาพวกคุณแล้ว! ผมรู้ว่าหลายคนอาจจะคิดว่า ผมไม่รู้หรอกว่าการสร้างเขื่อนต้องทำยังไง หรือวิธีการอะไรที่จะทำให้คนนับล้านมารวมกันได้”

“ใช่, แต่ผมจะบอกความลับให้ ไม่มีใครรู้มาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นหรอกว่ามันจะเป็นอย่างไร ความคิดมันไม่ได้ถูกออกแบบไว้แล้ว แต่มันจะค่อยๆ เผยให้เห็นจากการที่คุณลงมือทำ คุณแค่ต้องเริ่มต้นทำมันเท่านั้นเอง”

“แต่ในสังคมเราทุกวันนี้ เรามักไม่กล้าทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะกลัวความผิดพลาด แต่ความจริงคือถ้าเราไม่ลงมือทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อะไรเลย ในอนาคตจะมีปัญหาแน่ แล้วเราจะรออะไร?”

“ถึงเวลาแล้วที่คนรุ่นเราต้องคิดถึงงานทางสาธารณะ (public works) เช่น เราจะหยุดภาวะโลกร้อนได้อย่างไรก่อนที่เราจะทำร้ายโลกไปมากกว่านี้ และมีวิธีการอะไรที่เราจะทำให้ผู้คนนับล้านและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหันมาติดตั้งแผงโซลาเซลล์เพื่อลดโลกร้อน? หรืออย่างเรื่องประชาธิปไตย ทำไมเราไม่ทำให้การลงคะแนนเสียง (vote) เป็นไปแบบออนไลน์ หรือสร้างการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอหน้ากัน

“เราสามารถทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นจริงได้ ผมขอให้พวกคุณลงมือทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ อย่าทำเพียงเพราะสร้างความก้าวหน้า แต่ต้องสร้างวัตถุประสงค์ในสิ่งที่ทำด้วย”

นิยามความเสมอภาคเสียใหม่ ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำในโลกเสียที!

Mark ยอมรับว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของโลกทุกวันนี้ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

“ลองดูง่ายๆ ผมออกจากฮาร์วาร์ด และผมทำเงินได้หลายพันล้านเหรียญในเวลาเพียง 10 ปี ในขณะที่นักเรียนอีกเป็นแสนเป็นล้านคนไม่สามารถจ่ายเงินที่กู้ยืมมาเรียนได้”

ส่วนนี้ต้องไฮท์ไลท์พิเศษ เพราะข้อเสนอในสุนทรพจน์ของ Mark ท่อนนี้คือ “คนทุกรุ่นต่อสู้เพื่อขยายความนิยามของความเท่าเทียม คนรุ่นก่อนต่อสู้เพื่อสิทธิในการออกเสียงไปลงคะแนนเลือกตั้ง และสิทธิพลเมือง พวกเขากำหนดข้อตกลงใหม่เพื่อสังคมที่ดีกว่าเดิม แล้วรุ่นของเราล่ะ? อะไรคือสัญญาประชาคมของคนรุ่นเรา?”

“เราควรจะมีการวัดความก้าวหน้าของสังคม ไม่ใช่แค่ GDP ที่วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เราควรจะมีเกณฑ์ที่หลากหลายในการให้คุณค่า อย่างเช่น เราควรจะไปสำรวจแนวคิด universal basic income (รายได้ให้เปล่าจากรัฐบาล เป็นแนวคิดที่เชื่อว่ารัฐควรให้เงินประชาชนเท่ากันทุกคน ไม่ว่าจะรวยหรือจน โดยให้ในจำนวนพื้นฐานที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต) เพื่อทำให้ผู้คนมีพื้นที่ที่รองรับในยามลำบาก (-เพิ่มเติม- Mark ใช้ในความหมายที่ว่าเป็นเสมือนเบาะหรือฟูกที่รองรับผู้คน ในกรณีที่ออกมาประกอบกิจการแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เงินจำนวนนี้จะช่วยเหลือพวกเขาได้)”

อันที่จริง ประเด็นความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะไม่นานมานี้ Bill Gates ได้ทวิตถึงประเด็นนี้เพื่อส่งสารไปยังบัณฑิตเช่นกัน โดยเขาบอกว่า “สิ่งหนึ่งที่ผมเสียใจมาจนถึงวันนี้ คือตอนที่ผมออกจากมหาวิทยาลัย ผมมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในโลก หลังจากนั้นผมใช้เวลากว่า 10 ปีเพื่อได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้น … พวกคุณในวันนี้ รู้จักหลายสิ่งหลายอย่างดีกว่าผมมาก คุณควรเริ่มต้นต่อสู้เพื่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะในเริ่มต้นในระดับเล็กๆ หรือทำในระดับโลก แต่ควรเริ่มต้นได้แล้ว” หรือเข้าไปอ่านทวิตเตอร์ของเขาได้ที่นี่

“Purpose” คือสิ่งที่ Mark เน้นย้ำมากในสุนทรพจน์

“วัตถุประสงค์” หรือ “เป้าหมาย” คือสิ่งที่ Mark ย้ำในสุนทรพจน์ของเขาอย่างจริงจัง และถ้าไปดูในบทแบบ Full Text ของสุนทรพจน์จะพบว่าใช้คำว่า “Purpose” บ่อยมาก เท่าที่นับดูจากการพูดในช่วงเวลา 30 นาที เขาใช้คำนี้ไปประมาณ 27 ครั้ง!

Mark เชื่อถึงขนาดที่บอกว่า “วัตถุประสงค์คือความรู้สึกที่ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเราเอง มันจำเป็นมาก เพราะมันทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น วัตถุประสงค์คือสิ่งที่สร้างความสุขให้กับเราอย่างแท้จริง”

นอกจากนั้น Mark ยังพูดถึงปัญหาระดับโลกไว้ว่า “เราอยู่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ยุคที่ทุกอย่างเชื่อมต่อกัน นี่เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ เพราะมันหมายความว่า เราสามารถหยุดยั้งความยากจนได้ เราสามารถหยุดยั้งโรคภัยไข้เจ็บได้ แต่สิ่งเหล่านี้เราทำด้วยตัวเราเองไม่ได้ หรือประเทศเดียวก็ทำไม่ได้ อย่างปัญหาภาวะโลกร้อน เราต้องการความร่วมมือที่ไม่ได้มาจากเมืองใดเมืองหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มันคือชุมชนโลก (global community) ที่ต้องร่วมมือกัน

Photo: Facebook Mark Zuckerberg

ที่มา Full Text – Harvard

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา